วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

การเขียนเรียงความ


เรียงความ คือการใช้ศิลปะทางการเขียนร้อยแก้วแสดงความรู้สึกนึกคิด จินตนาการและความเข้าใจของผู้เขียนอย่างสละสลวย เรียงความจะต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป


          ๑. การเขียนส่วนนำ  ดังได้กล่าวแล้วว่าส่วนนำเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ดังนั้น ส่วนนำจึงเป็นการบอกผู้อ่านถึงเนื้อหาที่นำเสนอและยังเป็นการเร้าความสนใจให้อยากอ่าน เรื่องจนจบ การเขียนส่วนนำเพื่อเร้าความสนใจนั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกตามความเหมาะสม อาจนำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คำถาม การเล่าเรื่องที่จะเขียน การยกคำพูด ข้อความ หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ บทร้อยกรอง การอธิบายความเป็นมาของเรื่อง การบอกจุดประสงค์ของการเขียน การให้คำจำกัดความ ของคำสำคัญของเรื่องที่จะเขียน  แรงบันดาลใจ ฯลฯ ดังตัวอย่าง เช่น
          ๑.๑ นำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน จะพบกลุ่มสนทนากลุ่มย่อย ๆ วิสัชนากันด้วยเรื่อง “วิสามัญฆาตกรรม” ในคดียาเสพติด บ้างก็ว่าเป็นความชอบธรรม บ้างก็ว่ารุนแรงเกินเหตุ หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ทำวิสามัญฆาตกรรมกรณียาเสพติด แล้วจะใช้วิธีการชอบธรรมอันใด ที่จะล้างบางผู้ค้าหรือผู้บ่อนทำลายเหล่านี้ลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว
          ๑.๒ นำด้วยคำถาม เช่น ถ้าถามหนุ่มสาวทั้งหลายว่า “อยากสวย” “อยากหล่อหรือไง” คำตอบที่ได้คงจะเป็นคำตอบเดียวกันว่า “อยาก” จากนั้นก็คงมีคำถามต่อไปว่า “แล้วทำอย่างไรจึงจะสวยจะหล่อ ได้สมใจในเมื่อธรรมชาติของหลาย ๆ คนก็มิได้สวยได้หล่อมาแต่ดั้งเดิม จะต้องพึ่งพา เครื่องสำอาง หรือการศัลยกรรมหรือไร แล้วจะสวยหล่อแบบธรรมชาติได้หรือไม่ ถ้าได้ จะทำอย่างไร”
          ๑.๓ นำด้วยการเล่าเรื่องที่จะเขียน เช่น งานมหกรรมหนังสือนานาชาติจัดขึ้นเป็นประจำในวันพุธแรกของเดือนตุลาคมของทุกปีที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้ นับเป็นครั้งที่ ๕๓
          ๑.๔ นำด้วยการยกคำพูด ข้อความ สุภาษิตที่น่าสนใจ  เช่น ในอดีตเมื่อกล่าวถึงครู หรือค้นหาคุณค่าของครู หลายคนคงนึกถึงความเปรียบทั้งหลายที่มักได้ยินจนชินหู ไม่ว่าจะเป็นความเปรียบที่ว่า “ครูคือเรือจ้าง” “ครูคือปูชนียบุคคล” หรือ“ครูคือผู้ให้แสงสว่างทางปัญญา” ฯลฯ ความเปรียบเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความเสียสละ และการเป็นนักพัฒนาของครู ในขณะที่ปัจจุบันทัศนคติในการมองครูเปลี่ยนไป หลายคนมองว่าครูเป็นแค่ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น เพราะครูสมัยนี้ไม่ได้อบรม ความประพฤติให้แก่ผู้เรียนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะเรียกว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” อาชีพครูเป็นอาชีพที่ตกต่ำและดูต้อยต่ำในสายตาของคนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องทำหน้าที่ในการพัฒนาคนที่จะไปเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนบทบาทหน้าที่คุณธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครูกันเสียที
          ๑.๕ นำด้วยบทร้อยกรอง เช่น
          “ความรักเหมือนโรคา
 บันดาลตาให้มืดมน

     ไม่ยินและไม่ยล
 อุปสรรคคะใดใด

     ความรักเหมือนโคถึก
 กำลังคึกผิขังไว้

     ก็จะโลดจากคอกไป
 บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง

     ถ้าหากปล่อยไว้
 ก็ดึงไปด้วยกำลัง

     ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง
 บ่หวนคิดถึงเจ็บกาย”
 

          (จากบทละครเรื่อง “มัทนพาธา” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
          ความรักเป็นอารมณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ มีทั้งประโยชน์และเป็นโทษในเวลาเดียวกัน ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ จริงใจและความมีเหตุผล ย่อมนำพาผู้เป็นเจ้าของความรักไปในทางที่ถูกที่ควร แต่ถ้าความรักนั้นเป็นเพียงอารมณ์อันเกิดจากความหลงใหลในรูปกายภายนอก ความชื่นชมตามกระแสและความหลงผิด ความรักก็จะก่อให้เกิดโทษ จึงมีผู้เปรียบเปรยว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” ด้วยบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องมัทนพาธา ซึ่งได้แสดงให้เห็นภาพของความลุ่มหลง อันเกิดจากความรักและทุกข์สาหัสอันเกิดจากความรักได้เป็นอย่างดี สมกับชื่อเรื่องว่า มัทนพาธาที่แปลว่า ความบาดเจ็บแห่งความรัก
          ๑.๖ นำด้วยการอธิบายความเป็นมาของเรื่อง เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ศพของท่านได้รับการบรรจุไว้ในโกศศพพระราชทาน เห็นดังนั้นแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนข้าพเจ้าไปเผาศพคุณตา คุณยายที่บ้านสวน จังหวัดสมุทรสงคราม ศพของท่านทั้งสองก็ได้รับการบรรจุไว้ในโกศเช่นกัน ซึ่งท่านทั้งสองก็เป็นพลเรือนธรรมดา ๆ ไม่ได้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เรื่องนี้คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมพลเรือนธรรมดา ๆ ถึงมีโกศใส่ศพกับเขาด้วย ดังนั้นเพื่อทำความกระจ่างแก่เยาวชนและผู้สนใจ ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่เคยเห็นศพชาวบ้านที่บรรจุในโกศ ข้าพเจ้าจึงได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป
          ๑.๗ นำด้วยการบอกจุดประสงค์ของการเขียน เช่น สามก๊ก ที่ผู้อ่านทั้งในประเทศจีนและในประเทศไทยรู้จักกันดีนั้นเป็นนวนิยาย ส่วนสามก๊กที่เป็นประวัติศาสตร์ มีคนรู้น้อยมาก แม้คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้เรียนจบ ขั้นอุดมศึกษามาแล้ว ก็มีน้อยคน (น้อยมาก) ที่รู้พอสมควร บทความเรื่องนี้จึงขอเริ่มต้นจาก สามก๊ก ที่เป็นประวัติศาสตร์
 
องค์ประกอบของเรียงความ 
          เรียงความเรื่องหนึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่องและส่วนท้ายหรือสรุป ส่วนนำเรื่องจะเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนขยายโครงเรื่องที่วางเอาไว้ส่วนนี้จะประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้า ส่วนท้ายของเรื่องจะเป็นการเน้นย้ำประเด็นหลักหรือจุดประสงค์