แนวทางการเขียนเรียงความ


แนวทางการเขียนเรียงความ

๑. การเลือกเรื่อง
เขียนเรื่องใกล้ตัวของผู้เขียน หรือเรื่องที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ดี รวมทั้งเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้เป็นอย่างดี หรือเขียนเรื่องที่สนใจ เป็นเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของบุคคลทั่วไป
๒. ประเภทของเรื่องที่จะเขียน  แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
          ๒.๑ เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้ เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมทั้งหลักการตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ใช้วิธีเขียนบอกเล่าหรือบรรยายรายละเอียด
          ๒.๒ เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ เป็นการอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้ หลักการ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ การเขียนเพื่อความเข้าใจมักควบคู่ไปกับการเขียนเพื่อให้เกิดความรู้
          ๒.๓ การเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ  เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเชื่อถือและยอมรับ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางใจให้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับข้อเขียนนั้น ๆ


๓. การวางโครงเรื่องก่อนเขียน 
การเขียนเรียงความเป็นการเสนอความคิดต่อผู้อ่าน ผู้เขียนจึงต้องรวบรวมเลือกสรรและจัดระเบียบความคิด แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นโครงเรื่อง การรวบรวมความคิด อาจจะรวบรวม ข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง นำส่วนที่เป็นประสบการณ์ตรงและประสบการณ์ทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการฟัง การอ่าน การพูดคุย ซักถาม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำข้อมูล มาจัดระเบียบความคิด โดยจัดเรียงลำดับตามเวลา เหตุการณ์ ความสำคัญและเหตุผล แล้วจึงเขียนเป็นโครงเรื่อง 
          ๓.๑ ชนิดของโครงเรื่อง  การเขียนโครงเรื่องนิยมเขียน ๒ แบบ คือ โครงเรื่องแบบหัวข้อและโครงเรื่องแบบ ประโยค
               ๓.๑.๑ โครงเรื่องแบบหัวข้อ เขียนโดยใช้คำหรือวลีสั้น ๆ เพื่อเสนอประเด็นความคิด
               ๓.๑.๒ โครงเรื่องแบบประโยค เขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ โครงเรื่องแบบนี้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าโครงเรื่องแบบหัวข้อ
          ๓.๒ ระบบในการเขียนโครงเรื่อง การแบ่งหัวข้อในการวางโครงเรื่องอาจแบ่งเป็น ๒ ระบบ คือ
               ๓.๒.๑ ระบบตัวเลขและตัวอักษร เป็นระบบที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยกำหนดตัวเลขหรือประเด็นหลัก และตัวอักษรสำหรับประเด็นรอง ดังนี้
                    ๑) ................................................................................................
                          ก. ........................................................................................
                          ข. .........................................................................................
                    ๒)
                          ก. ........................................................................................
                          ข. .........................................................................................
               ๓.๒.๒ ระบบตัวเลข เป็นการกำหนดตัวเลขหลักเดียวให้กับประเด็นหลักและตัวเลขสองหลัก และสามหลัก ให้กับประเด็นรอง ๆ ลงไป ดังนี้
                    ๑) .................................................................................................
                          ๑.๑ ......................................................................................
                          ๑.๒ .....................................................................................
                   ๒) .................................................................................................
                          ๒.๑ .....................................................................................
                          ๒.๒ ....................................................................................
         ๓.๓ หลักในการวางโครงเรื่อง หลักในการวางโครงเรื่องนั้นควรแยกประเด็นหลักและประเด็นย่อยจากกันให้ชัดเจน โดยประเด็นหลักทุกข้อควรมีความสำคัญเท่ากัน ส่วนประเด็นย่อยจะเป็นหัวข้อที่สนับสนุน
ประเด็นหลัก ทั้งนี้ทุกประเด็นต้องต่อเนื่องและสอดคล้องกัน จึงจะเป็นโครงเรื่องที่ดี
๔. การเขียนย่อหน้า เป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้ผู้อ่าน อ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็ว มีช่องว่างให้ได้พักสายตา ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้า และนำย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ต้องมีสาระเพียง ประการเดียว ถ้าจะขึ้นสาระสำคัญใหม่ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ ดังนั้น การย่อหน้าจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง แต่อย่างน้อยเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า คือ ย่อหน้าที่เป็นคำนำเนื้อเรื่องและสรุป
          ๔.๑ ส่วนประกอบย่อหน้า ย่อหน้า ๑ ย่อหน้าประกอบด้วย ประโยคใจความสำคัญและประโยคขยายใจความสำคัญหลาย ๆ ประโยค มาเรียบเรียงต่อเนื่องกัน
          ๔.๒ ลักษณะของย่อหน้าที่ดี ย่อหน้าที่ดีควรมีลักษณะ ๓ ประการ คือ เอกภาพ สัมพันธภาพและสารัตถภาพ
               ๑)  เอกภาพ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีประโยคใจความสำคัญ ในย่อหน้าเพียงหนึ่ง ส่วนขยายหรือสนับสนุนต้องกล่าวถึงใจความสำคัญนั้น ไม่กล่าวนอกเรื่อง
               ๒)  สัมพันธภาพ คือ การเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มีการลำดับความอย่างมีระเบียบ นอกจากนี้ยังควรมีความสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มีมาก่อน หรือย่อหน้าที่ตามมาด้วย
               ๓)  สารัตภาพ คือ การเน้นความสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้าและของเรื่องทั้งหมด โดยใช้ประโยคสั้น ๆ สรุปกินความทั้งหมด อาจทำได้โดยการนำประโยคใจความสำคัญมาไว้ตอนต้น หรือตอนท้ายย่อหน้า หรือใช้สรุปประโยคหรือวลีที่มีลักษณะซ้ำ ๆ กัน

๕. การเชื่อมโยงย่อหน้า 
วิธีการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่อง ซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธี คือ
          ๕.๑  การลำดับย่อหน้าตามเวลา อาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
          ๕.๒  การลำดับย่อหน้าตามสถานที่ เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่หรือตามความ เป็นจริงที่เกิดขึ้น
          ๕.๓  การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ เรียงลำดับตามความสำคัญมากที่สุด สำคัญรองลงมาไปถึงสำคัญน้อยที่สุด
          ๕.๔  การลำดับย่อหน้าตามเหตุผล อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผล หรือผลไปเหตุ

๖. สำนวนภาษา 
๖.๑  ใช้ภาษาให้ถูกหลักภาษา เช่น การใช้ลักษณะนาม ปากกาใช้ว่า “ด้าม” รถใช้ว่า “คัน” พระภิกษุใช้ว่า “รูป” เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ควรใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น ขณะที่ข้าพเจ้าจับรถไฟไปเชียงใหม่ ควรใช้ว่า ขณะที่ข้าพเจ้าโดยสารรถไฟไปเชียงใหม่ บิดาของข้าพเจ้าถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ควรใช้ บิดาของข้าพเจ้าได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร
          ๖.๒  ไม่ควรใช้ภาษาพูด เช่น ดีจัง เมื่อไหร่ ทาน ฯลฯ ควรใช้ภาษาเขียน ได้แก่ ดีมาก  เมื่อไร  รับประทาน
          ๖.๓  ไม่ควรใช้ภาษาแสลง เช่น พ่น ฝอย แจวอ้าว สุดเหวี่ยง ฯลฯ
          ๖.๔  ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น เช่น ปริเวทนาการ ฯลฯ ซึ่งมีคำที่ง่ายกว่าที่ควรใช้คือคำว่า วิตก หรือใช้คำที่ตนเองไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เช่น บางคนใช้คำว่าใหญ่โตรโหฐาน คำว่า รโหฐานแปลว่า ที่ลับ ที่ถูกต้องใช้ ใหญ่โตมโหฬาร เป็นต้น
          ๖.๕  ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล เช่น คำสุภาพ คำราชาศัพท์ เป็นต้น
          ๖.๖  ผูกประโยคให้กระชับ “ถ้าเจ้าดินช้าเช่นนี้เมื่อไรจะไปถึงที่หมายสักที” หรือประโยคว่า “อันธรรมดาคนเราเกิดมาในโลกนี้ บ้างก็เป็นคนดี บ้างก็เป็นคนชั่ว” ควรใช้ว่า “คนเราย่อมมีทั้งดีและชั่ว”

๗. การใช้หมายเลขกำกับ
หัวข้อในเรียงความจะไม่ใช้หมายเลขกำกับ ถ้าจะกล่าวแยกเป็นข้อ ๆ จะใช้ว่า ประการที่ ๑ ......
๘. การแบ่งวรรคตอนและเครื่องหมายวรรคตอน
เครื่องหมายวรรคตอน เช่น มหัพภาค (.) อัฒภาค (;) จุลภาค (,) ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าไม่ใช้ก็ใช้แบบไทยเดิม คือการเว้นวรรคตอน  โดยเว้นเป็นวรรคใหญ่ วรรคน้อย ตามลักษณะประโยคที่ใช้

ตัวอย่างโครงเรื่องแบบหัวข้อ
     เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
     ๑)   สาเหตุของการติดยาเสพติด
          ก.  ตามเพื่อน
          ข.  การหย่าร้างของบิดามารดา
          ค.  พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก
          ง.  การบังคับขู่เข็ญ
     ๒)   สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
          ก.  จำนวนผู้ติดยา
          ข.  การก่ออาชญากรรม
          ค.  การค้าประเวณี
     ๓)   แนวทางการแก้ไขปัญหา
          ก.  การสร้างภูมิต้านทานในครอบครัว
          ข.  การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
          ค.  กระบวนการบำบัดรักษาแบบผสมผสาน
ตัวอย่างโครงเรื่องแบบประโยค
     เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
     ๑)   สาเหตุของการติดยาเสพติด มีหลายสาเหตุทั้งสาเหตุที่เกิดจากตัวเองและจาก
          สิ่งแวดล้อม
          ก.  เสพตามเพื่อน เพราะความอยากลอง คิดว่าลองครั้งเดียวคงไม่ติด
          ข.  บิดา มารดา หย่าร้างกัน ลูกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้รู้สึกหว้าเหว่ เหงา และเศร้าลึก ๆ
          ค.  พ่อแม่ให้เวลากับการทำงานหาเงินและการเข้าสังคม ไม่มีเวลาให้ครอบครัว
          ง.  ในโรงเรียนมีกลุ่มนักเรียนที่ทั้งเสพและค้ายาเสพติดเอง ใช้กำลังข่มขู่บีบบังคับให้ซื้อยา         
     ๒) สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
          ก.  จำนวนวัยรุ่นไทยที่ติดยาเสพติดในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ข.  ปัญหาที่ตามมาของการติดยาเสพติดคือการก่ออาชญากรรมทุกประเภท
          ค.  ในหมู่วัยรุ่นหญิงที่ติดยาเสพติด มักตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีในที่สุด
     ๓) แนวทางการแก้ไขปัญหา
          ก.  การให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทร รวมทั้งการมีเวลาให้กับคน
              ในครอบครัว เป็นภูมิต้านทานปัญหายาเสพติดได้อย่างดี
          ข.  การทำให้คนในชุมชนรักชุมชน ช่วยเหลือแก้ปัญหาในชุมชนจะเป็นเกราะป้องกันปัญหายาเสพติดได้อย่างดี เพราะเขาร่วมกันสอดส่องดูและป้องกัน
              ชุมชนของตนเองจากยาเสพติด
          ค.  สังคมใดที่มีผู้คนสนใจใฝ่รู้ ใฝ่แสวงหาข้อมูลข่าวสาร ผู้คนจะมีความรู้เพียงพอที่จะพาตัวให้พ้นจากภัยคุกคามทุกรูปแบบด้วยปัญญาความรู้ที่มี
          ง.  กระบวนการบำบัดผู้ติดยามิให้กลับมาติดใหม่ ทำได้ด้วยการให้การรักษาทางยา ควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจ ด้วยการใช้การปฏิบัติทางธรรม ซึ่งจะเป็นภูมิ
              ต้านทานทางใจที่ถาวร